ประธานOUI พร้อมคณะเยือนไทย
พบ “เสธ.อ้าย” นายกสมาคมไทย-จีน
Madam Liu Xiongying ประธานสหภาพการลงทุนในต่างประเทศของจีน (OUI) และคณะ เข้าพบ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายกสมาคมไทย-จีน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย ณ ซอยสุขุมวิท101/1 (วชิรธรรม55 กทม.) เพื่อพบปะพูดคุย ตลอดจนขอคําปรึกษาแนะนำเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาในประเทศไทย กระชับความสัมพันธ์ของ2ประเทศ ที่เป็นมิตรประเทศกันมายาวนาน เผยไทยมีศักยภาพในการลงทุน จีนสนลงทุนไอที โดยเฉพาะบล็อกเชน ภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมและการเกษตรแปรรูป
Madam Liu Xiongying ประธานOUI กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกท่าน ที่ต้อนรับพวกเรา ในวันหยุดสงกรานต์นี้ ฉันขอแนะนำทีมงานจากทางประเทศจีน มีดังนี้คือ ดิฉัน Madam Liu Xiongying ประธานสหภาพการลงทุนในต่างประเทศของจีน , รองประธาน Mr.Huang Peihan, Mr.Chen Defeng , ประธานคณะกรรมการกลุ่ม Neo-Holding คือ Mr.Wang Xinghong และทีมงาน ได้เข้าเยี่ยมเยือนท่านพลเอกบุญเลิศ แก้วประเสริฐ นายกสมาคมไทย-จีน และ ท่านพลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ ซึ่งความสัมพันธ์ไทย – จีนเป็นมิตรกันมาตลอดโดยสันติมายาวนาน และมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเป็นอย่างดี โดยสหภาพฯได้ส่งเสริมการริเริ่มของ China Belt and Road และรักษาความสัมพันธ์ความร่วมมือระยะยาวกับต่างประเทศ
วันนี้นับว่า ได้พบกับนายพลทั้งสองท่านและทีมงาน และหวังว่า จากบทบาทสำคัญ “สมาคมความสัมพันธ์ไทย – จีน” จะช่วยส่งเสริมการมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเราได้ขยายการลงทุนและความร่วมมือไปอย่างกว้างขวาง โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในระดับที่สูงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อ โครงการ National Belt and Road Initiative หรือการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างการเชื่อมต่อดิจิตอล ยกระดับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การค้า และการแลกเปลี่ยนการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยว การลงทุน และการพัฒนาและการเชื่อมโยงอื่น ๆ ด้วยความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน”
พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายกสมาคมไทย-จีน หรือ เสธ.อ้าย เปิดเผยว่า จีนมีความสนใจลงทุนทางด้านไอที เช่น เรื่อง Blockchain ที่ยังเป็นเรื่องใหม่และตนยังไม่เข้าใจนัก แต่คนอื่นคงรู้จักดี ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นทั้งไทยและจีนได้มีความร่วมมือกันอยู่แล้ว ทั้งด้านก่อสร้าง ด้านการค้า การท่องเที่ยวและธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่จีนสนใจมาลงทุนในไทย ซึ่งทางสมาคมไทย-จีนมีคณะกรรมการหลายท่านด้วยกันพร้อมให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ ยินดีให้คำแนะนำปรึกษา หรือหากเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ก็จะหาคนที่รู้เรื่องมาทำให้ คาดว่า หลังจากไทยมีรัฐบาลชุดใหม่ จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก
“ไทยเป็นเหมือนร่างกาย ถ้าจีนเข้ามาลงทุน ก็เปรียบเสมือนเลือดที่เข้ามาในร่างกาย ที่ทำให้สมบูรณ์ขึ้น การท่องเที่ยวดีอยู่แล้ว อยากให้มาลงทุนด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ก่อสร้าง อุตสาหกรรม ด้านเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ต่างประเทศรู้เรื่องเมืองไทยดีอยู่แล้วว่า ไทยเป็นประเทศน่าลงทุน คนดี ผืนดินดี สิ่งแวดล้อมดี ”
อนึ่งสำหรับสหภาพการลงทุนในต่างประเทศของจีน (Overseas Investment Union of the Investment Association of China-OUI) ตั้งขึ้นโดย สมาคมการลงทุนของจีน( The Investment Association of China -IAC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดธุรกิจในท้องถิ่นของจีนไปสร้างความสัมพันธ์ในต่างแดน เพื่อขยายโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ และมุ่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจจีน ด้วยการส่งเสริมแนะนำให้นำเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้
OUI นับว่า เป็นองค์กรทางสังคมระดับชาติที่จดทะเบียนในกระทรวงกิจการพลเรือนของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นองค์กรที่มีอํานาจและครอบคลุมในด้านการลงทุนในประเทศจีนและได้รับคําแนะนำจากคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หลังจากการพัฒนามากกว่า20 ปี ปัจจุบันมี สมาชิกมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกภาคส่วน รวมถึงรัฐวิสาหกิจของรัฐ เอกชนและต่างประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ โดยสหภาพฯประกอบด้วยคณะกรรมการมืออาชีพ16 คณะ ศูนย์ 6 แห่ง ฝ่ายปฏิบัติการ 5 แผนกและคณะกรรมการจัดงานออแกไนซ์ 1 คณะ
ทั้งนี้ทุนจีนหลั่งไหลไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Overseas Direct Investment: ODI) ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 ที่ผ่านมา หรือมีบทบาทเป็นนักลงทุนข้ามชาติที่เป็นรองเฉพาะสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยในปีดังกล่าวรัฐบาลจีนสนับสนุนความร่วมมือเข้าลงทุนในภาคผลิตสินค้าเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมขั้นสูงและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าและระบบโลจิสติกส์ เพิ่ม แต่เพิ่มข้อจำกัดการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม โรงภาพยนตร์ ธุรกิจบันเทิงและสปอร์ตคลับ
สำหรับการลงทุนส่วนใหญ่ของจีนอยู่ในเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ส่วนการลงทุนในประเทศไทยนั้นติดอยู่อันดับ 4 ของภูมิภาคและอันดับ 10 จาก 27 ประเทศใน 6 ทวีป (ข้อมูลจาก-Net Overseas Direct Investment by Regions/Countries ปี 2016-2017)
อย่างไรก็ดีคาดว่าไทยจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีและบรรยากาศธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุน โดยรายงาน Doing Business 2018 ของ World Bank ที่จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งดีขึ้นจากอันดับ 46 ในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการ ลงทุนได้แก่ การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2018 ซึ่งนับว่า มีความสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน