อพท. เปิดแผนพัฒนาพื้นที่ระยะ5ปี
ดันตราดบูมท่องเที่ยวชุมชนวิถีชีวิต
อพท. เปิดแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดตราดระยะ 5 ปี กระจายนักท่องเที่ยวสู่ชุมชนหนุนท่องเที่ยวเชิงประมง และเชิงนิเวศฯ ตามพื้นฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ยกระดับไม่ใช่แค่เมืองผ่าน แต่นักท่องเที่ยวต้องแวะ และเพิ่มวันพักค้างคืน
นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดตราด ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวและนักเดินทางซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และการเดินทางเชื่อมโยงของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางเชื่อมโยงทางฝั่งตะวันออก
“ อพท. 3 มีภารกิจดูแลพัฒนาพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เราจึงเห็นความสำคัญที่จะเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในการรองรับนักท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนให้มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยว ซึ่งแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับนี้ จะเน้นพัฒนาพื้นที่บนฝั่งตามฐานทรัพยากรและความโดดเด่นของชุมชนนั้นๆ เป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา อพท. พัฒนาพื้นที่เกาะ เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ไประดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะเกาะหมากที่ตั้งเป้าหมายเป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น”
สำหรับแผนพัฒนา 5 ปี อพท. จะเน้นการพัฒนา 3 ประเด็นประกอบด้วย1. พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) โดยจะคัดเลือกชุมชนที่มีความโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจ 2-3 ชุมชน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวรองในจังหวัดตราด
2.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก(Global Sustainable Tourism Council :GSTC) ซึ่งที่ผ่านมา ทางพื้นที่ได้พัฒนาเกาะหมาก ด้าน Low Carbon จนประสบความสำเร็จ และในปีนี้มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ภาคีเครือข่ายที่มีความรู้ด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยควันพิษ น้ำเสีย มาบูรณาการร่วมกัน โดยร่วมมือกับองค์การบริหารการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดทำข้อมูลเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากน้อยแค่ไหน พื้นที่มีการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ GSTC รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงแรมให้มีการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
3.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านจากจังหวัดตราดสู่ประเทศกัมพูชา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสองประเทศ คือจังหวัดตราด ประเทศไทย– จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ชูจุดขายวิถีชีวิตประมงชายฝั่งและป่าชายเลน สำหรับปีงบประมาณ 2562 จะขยายเส้นทางไปถึงสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมง โดยร่วมกับสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หรือ TEETA ศึกษาและสำรวจแหแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพื่อหาจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น ประเมินและรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งจะเร่งประชาสัมพันธ์ถึงความสะดวกในการข้ามแดน ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าหมายจะขยายเส้นทางเชื่อมโยงเส้นนี้ไปถึงประเทศเวียดนามด้วย
นายสุธารักษ์ กล่าวอีกว่า ปีงบประมาณ 2652 อพท. ได้เข้าไปพัฒนาการบริหารจัดการให้กับชุมชนท่าระแนะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด พร้อมร่วมกับชุมชนจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จุดเด่นชุมชนนี้คือมีผืนป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ขนาด 2,000 ไร่ เป็นป่าโกงกาง ป่าจาก และป่าตะบูน ซึ่งรากตะบูนที่อยู่เหนือผืนดินถือเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ การเข้าชมความงามต้องเดินทางโดยเรือ จึงคาดว่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
“ท่าระแนะ เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ และทำเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว การที่ อพท. เข้าไปคือช่วยเสริมเรื่องการบริหารจัดการให้เท่านั้น เพื่อให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และจะนำชุมชนนี้เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นด้วย” รองผู้จัดการ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ของ อพท. คือการยกระดับจังหวัดตราดไม่ให้เป็นแค่เมืองผ่าน แต่เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่นักท่องเที่ยวต้องการมาพักค้างคืน มีความหลากหลายทางการท่องเที่ยวที่มากกว่าทะเล แต่เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งการพัฒนาตามแผนงาน อพท. จะเพิ่มชุมชนและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวให้ขยายวงกว้างออกไปยังชุมชนต่าง อันจะช่วยเพิ่มวันพักให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดนี้ก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวต่อที่อื่นๆ
ขอบคุณภาพประกอบจาก-https://board.postjung.com/