พม. ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก
ลงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต.ห้วยโจด (ศปก.ต.ห้วยโจด) พร้อมด้วย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คณะผู้บริหาร พม. และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2562 ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 (บ้านห้วยโจด) อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยได้รับเกียรติจาก นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ
พลเอก อนันตพร กล่าวว่า จากสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมที่พบส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งสาเหตุอันดับหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่นการหึงหวง ความไม่เข้าใจกัน และนำมาซึ่งการทำร้ายร่างกาย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพสตรีและการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ได้ดำเนินการในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในทุกช่องทาง ทั้งการสร้าง ความรู้ความเข้าใจ ช่องทางการเข้าถึงสิทธิของประชาชน และการรณรงค์ปรับเจตคติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านครอบครัวระดับตำบลในรูปแบบของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านครอบครัวในชุมชน
ซึ่งปัจจุบันมี ศพค. อยู่ทั้งหมด 7,133 แห่งทั่วประเทศ และได้ดำเนินการยกระดับ ศพค. ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) โดยสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสหวิชาชีพในพื้นที่ในการดำเนินงานในเชิงป้องกันและแก้ไข โดยในปี 2562 มีเป้าหมายจะดำเนินการยกระดับ ศพค. เป็น ศปก.ต. ให้ได้จำนวน 878 ศูนย์ฯ และปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 708 ศูนย์ฯ
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
สำหรับ ศพค. ห้วยโจด เป็น ศพค. ที่มีความโดดเด่นเรื่องการดำเนินงานด้านครอบครัว จนได้รับรางวัล ศพค.ดีเด่น จาก พม. 2 ปีซ้อน ในปี 2558 และ ปี 2559 และวันนี้ได้ยกระดับให้เป็น ศปก.ต. ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สะท้อนถึงความทุ่มเทและเสียสละเวลาของคนในชุมชนในการทำงานเพื่อชุมชนของตน เพราะเมื่อประชาชนเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนหรือดำเนินงานเฝ้าระวังแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาชุมชนของตนให้เข้มแข็งแล้ว การพัฒนาสังคมก็จะเป็นไปอย่างยั่งยืน
พลเอกอนันตพร กล่าวต่อไปว่า การเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบลห้วยโจด ในวันนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้บริหารและคณะสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมกระบวนการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในระดับพื้นที่ และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ได้รับทราบถึงช่องทางการขอรับบริการ สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายผ่านการให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือจากหน่วยงานของกระทรวง พม. คณะทำงาน ศปก.ต. ในพื้นที่ และทีมสหวิชาชีพที่จะร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ
“ขอฝากพี่น้องประชาชน หากพบเห็นความรุนแรง ขออย่านิ่งเฉย หากไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือด้วยตัวเอง สามารถแจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำรวจ หรือแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โทรสายด่วน 1300 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือประสานศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว (ศปก.ต.) และขอเน้นย้ำว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือ เรื่องภายในครอบครัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และต้องไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรงในสังคม ทุกรูปแบบ ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศให้มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้าต่อไป” พลเอกอนันตพร กล่าวในตอนท้าย
จากนั้น เวลา 15.00 น. พลเอกอนันตพร ได้เดินทางไปยังลานสยามมินทร์ สำนักงานเทศบาลเมือง อรัญญประเทศเพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “รวมใจประชารัฐ พัฒนาสตรีและครอบครัวสู่สังคมเสมอภาค”
ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐร่วมใจ สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยมีนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พม. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมงานกว่า 500 คน
พลเอก อนันพร กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงเปรียบเทียบจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พบว่า ในปี 2561 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 2,710 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 จำนวน 860 ราย (ปี 60/1,850) และในจำนวนนี้เป็นความรุนแรงในครอบครัว ถึง 1,774 ราย จากแนวโน้มตัวเลข ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชน รับทราบช่องในการแจ้งเหตุ หรือขอรับบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย การช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ ทำให้กล้าที่จะแจ้งเหตุ ดังนั้น การสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญ
สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันยุติความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ซึ่งจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา และจากสถิติความรุนแรงที่พบในจังหวัดสระแก้ว พบว่ายังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่แต่เป็นตัวเลขที่น้อย
และกิจกรรมในวันนี้จะช่วยกระตุ้นคนในสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงมากขึ้นและช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดของตน
ด้าน นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งและมั่นคง จำเป็นต้องทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ โดยเล็งเห็นความสำคัญของ “สื่อ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่กระจายเนื้อหาข่าวสารไปยังประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สังคมได้รับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ ตลอดจนความรุนแรงของเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคม และยังมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้
และเมื่อปี 2555 สค. จึงได้จัดโครงการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในงานด้านสตรีและครอบครัวแก่เครือข่ายสื่อมวลชน และรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่องานของ สค. ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อโครงการพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ที่ได้มีการขับเคลื่อนโครงการพลังบวกสามฯ เกิดผลตอบรับที่ดี ซึ่งนอกจากจะสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ที่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจังแล้ว ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม และที่สำคัญต้องขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วม และนำเสนอภาพลักษณ์ดีๆ ของโครงการนี้มาโดยตลอด
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ในปี 2562 สค. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการความร่วมมือการดำเนินงานทุกภาคส่วนในรูปแบบ “ประชารัฐ” ภายใต้กิจกรรมรวมใจประชารัฐ พัฒนาสตรีและครอบครัวสู่สังคมเสมอภาค และได้ชูแนวคิด “ประชารัฐร่วมใจ สร้างสังคมไร้ความรุนแรง” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนของ พม. ในด้านการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และนโยบายด้านการพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสื่อสารไปยังสาธารณชนเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัวอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ การสร้างความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสตรีและครอบครัว พัฒนาไปสู่การสร้างสังคมให้มี “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมสำคัญในวันที่ 26 เมษายน ช่วงเช้า พิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวตำบลห้วยโจด (ศปก.ต.ห้วยโจด) และกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 83 และช่วงบ่าย กิจกรรมเดินรณรงค์สร้างกระแสสังคม ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัวและความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ และในวันที่ 27 เมษายน จะมีการเสวนาแนวทางการประชาสัมพันธ์งานด้านสตรีและครอบครัวร่วมกับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “เสนอข่าวอย่างไร ไม่เป็นภัยต่อสตรีและครอบครัว” นอกจากนี้ยังการสาธิตการผลิตสินค้าจากกลุ่มสตรีภายใต้การดูแลของศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว หน่วยงานสังกัด สค. และกลุ่มสตรีและครอบครัวในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย องค์กรสตรี เครือข่ายครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน สื่อมวลชนส่วนกลาง และสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค องค์กรธุรกิจเอกชนและสมาคม ส่วนราชการในจังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานในสังกัด พม. จำนวน 500 คน นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย