เลขาฯวช.ชูวิจัย-นวัตกรรม
ประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’
วช.ผู้แทนไทยร่วมประชุมฟอรั่มสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ ๒ “เน้นบทบาทไทยด้านการวิจัยและนวัตกรรม” ระหว่าง วันที่ ๒๕ – ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ได้มีการประชุม “เวทีข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ ๒ (2nd Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF )” ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีผู้นำจาก ๓๘ ประเทศ และผู้แทนที่ได้รับเชิญจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล การวิจัยและนวัตกรรม โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้นำเสนอภายใต้หัวข้อหลัก (Thematic Forums) เรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมในเส้นทางสายไหม (Silk Road of Innovation) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๒
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในเส้นทางสายไหม (Silk Road of Innovation) ว่า ประเทศไทยได้จัดตั้ง “ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (DBAR)” ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอันเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่าง วช. กับ Chinese Academy of Sciences (CAS) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหนึ่งในจำนวนแปดศูนย์ทั่วโลก ที่ได้มีการจัดตั้งในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไทย ฟินแลนด์ อิตาลี ปากีสถาน โมร็อกโก รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และแซมเบีย โดย วช.ร่วมมือกับ ๓ หน่วยงานภาคี คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยบูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Earth Data) จากการสำรวจด้วยดาวเทียมและวิธีการอื่นนำมาใช้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและบุคลากรการวิจัย โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
ทั้งนี้ วช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ วช. และหน่วยงานภาคี ร่วมกับศูนย์ DBAR จัดการประชุม Digital Belt and Road Regional Consultation and Networking Workshop for Southeast Asia ณ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ (United Nations Convention Center) กรุงเทพฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อมูลและวางแผนการดำเนินงานร่วมกันและมีแผนจะจัดการประชุม The Fourth Digital Belt and Road Conference ที่กรุงเทพมหานครในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ซึ่งจะเป็นการจัดประชุมครั้งแรกนอกประเทศจีน
“ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (DBAR) ของ วช. และหน่วยงานภาคีเป็นบทพิสูจน์ของความร่วมมือที่จริงจังและมุ่งผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติร่วมกับจีนและประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้ Big Earth Data ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาเมือง ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในการจัดทำนโยบายการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนี้ ยังส่งเสริมความเชื่องโยงในภูมิภาค โดยจะได้ร่วมมือกับประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการอีกด้วย”
นอกจากนี้ เลขาธิการ วช. ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยกำลังมีการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศครั้งใหญ่ โดยการจัดตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” และ วช. ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” มีภารกิจหลักที่สำคัญ ๗ ประการ ซึ่ง วช.จะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัย และนวัตกรรม
ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำไปสู่ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มุ่งเน้นความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
การประชุมในครั้งนี้ จีนมีความคาดหวังที่จะร่วมกับประเทศต่าง ๆ ในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้มีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาตามกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยการกระชับความร่วมมือกันเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนในแต่ละประเทศ
ซึ่งในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำประเทศระดับสูง (High-Level Meeting) ในฐานะประธานของอาเซียน (ASEAN) โดยได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมและพบปะหารือความร่วมมือทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง อีกด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซี่ยนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติและพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมถึงการขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ นโยบายพัฒนาเศรฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคและยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน และย้ำว่า ไทยต้องการเห็นยุทธศาสตร์ BRI ประสบความสำเร็จ และต้องการเห็นไทย อาเซียน จีน และมิตรประเทศทุกประเทศ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดอย่างฉันท์มิตร อย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสันติภาพของภูมิภาคและของโลก และเพื่อการพัฒนามั่งคั่งของพลเมืองของเรา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง