นักวิชาการเมินทางเลียบเจ้าพระยา
ชี้ทำลายวิถีริมน้ำมีค่าเสน่ห์กทม.
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เปิดเวทีสาธารณะในหัวข้อ “ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์หรือทำลาย” ดึงองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ย้ำโครงการดังกล่าวมีประเด็นปัญหาทางด้านวิชาการ ทั้งเรื่องการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่ง นักวิชาการส่วนใหญ่เมินพัฒนาทางเลียบฯ เห็นพ้องอนุรักษ์ระบบนิเวศ วิถีชีวิตริมน้ำดั้งเดิมที่มีค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมซึ่งเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครไว้ พร้อมแนะหาทางเลือกอื่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งร่วมกัน ที่ไม่นำสู่ความขัดแย้ง และใช้เงินไม่มาก
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาพื้นที่สองฝั่งใช้เป็นเส้นทางสัญจร รวมทั้งใช้สำหรับจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพและนันทนาการต่าง ๆ รวมระยะทางรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ ซึ่งจะนำร่องการก่อสร้างโครงการทั้ง 2 ฝั่งในช่วงแรกจากบริเวณสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า รวมระยะทางรวม 14 กิโลเมตร โดยอยู่ในระหว่างการเริ่มประมูลการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวมีประเด็นปัญหาทางด้านวิชาการหลายอย่าง ทั้งเรื่องการก่อสร้างซึ่งจะต้องรุกล้ำลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งอาจะเกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้วอาจกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และอีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนฯลฯ
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรวิชาชีพที่มีพันธกิจด้านเมืองและสิ่งแวดล้อม จึงมีความประสงค์ที่จะจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะเรื่อง “ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์หรือทำลาย” เพื่อเปิดรับฟังข้อคิดเห็นอย่างรอบด้านจากทั้งองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับการจัดกิจกรรมเสวนาเพื่อเปิดเวทีสาธารณะในครั้งนี้สมาคมฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน พร้อมผู้แทนจาก 35 องค์กร เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญๆ เช่น การรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การระบายน้ำในช่วงเวลาวิกฤติ และผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนริมน้ำ ฯลฯ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี อ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อ.ขวัญสรวง อติโพธิ อ. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ นายยศพล บุญสม
ตัวอย่างองค์กรที่เข้าร่วม อาทิ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมชลประทาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณะสุข สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
นอกจากนี้ยังมีสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สถาบันอาศรมศิลป์ สมาคมสถาปนิกผังเมือง มูลนิธิสถาบันการเดินและจักรยานไทย สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา กรมส่งเสริมสุขภาพ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานเขตบางพลัด พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ มีหน้าที่ให้บริการวิชาการ รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ศึกษา สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทโครงการ ในปี 2557 ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) โดยมีเวลาในการศึกษาเป็นเวลา 7 เดือนและมีกรุงเทพมหานคร(กทม.)หรือตัวแทนภาครัฐเป็นผู้ว่าจ้าง
ผศ.ดร.อันธิกากล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาโดยหลักการมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงริมน้ำได้ ส่วนขอบเขตการศึกษาโครงการพัฒนาทางเลียบเจ้าพระยาระยะทาง 57 กิโลเมตรที่สจล.รับมา ครอบคลุมการสำรวจความเป็นไปได้เพื่อออกแบบทางสถาปัตยกรรม ผลกระทบและผลที่จะได้รับจากโครงการ โดยมีการศึกษาแบบ Inclusive design process ศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แก่ 34 ชุมชนริมน้ำ รับฟังความเห็น มีการทำประชาพิจารณ์ 3 ครั้ง ซึ่งหลังสำรวจแล้วได้แนวคิดเบื้องต้นก่อนการพัฒนาแบบร่าง เพื่อเสนอกทม.
ในการศึกษาสำรวจพบว่า 138 ไร่มีการใช้พื้นที่ที่เป็นสาธารณะ โดย 55 ไร่ถูกทำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ท่าเรือ อาคาร การถมดิน ,หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กทม.มีการสร้างเขื่อนกั้นริมน้ำ ,การใช้พื้นที่แบบทำลาย เพราะริมน้ำกลายเป็นเหมือนหลังบ้าน เป็นที่ทิ้งขยะ รัฐดูแลไม่ทั่วถึง แต่หากทำเป็นหน้าบ้านจะได้รับการดูแล บางโซนเอกชนมีการพัฒนา ก็จะเป็นท่าเรือ แต่สาธารณะเข้าไม่ถึง
นอกจากนี้ยังพบว่า มีหลายชุมชนมีอายุมากกว่า 100 ปี เช่น ชุมชนเรือบ้าน ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบางพื้นที่มีพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งได้ให้กรมศิลปากรเข้ามามีส่วนร่วมศึกษาออกแบบให้สอดคล้องประวัติศาสตร์เดิม
สรุปผลจากการประชุมกลุ่มโฟกัสกรุ๊ปพบ 25% เป็นชุมชนที่รุกล้ำ ซึ่งมากกว่า 130 ไร่อยู่บนพื้นที่สาธารณะ 25% ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบการทางน้ำ สมาคมวิชาชีพ ประมาณ 4 สมาคม , ผู้เห็นด้วยมี 75% ประกอบด้วยชุมชนที่มีประชากรจำนวนมากกว่า หน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการบางส่วน วัดและศาสนสถาน,
65% เห็นว่า การพัฒนาทางกายภาพ เศรษฐกิจ มีผลดีมากกว่าผลเสีย 10% เห็นว่ามีผลเสีย ตนจะได้รับผลกระทบแน่นอน 14%ไม่แน่ใจ โดยผู้เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาทางเลียบเจ้าพระยา68%เห็นว่า หยุดสร้างความเสื่อมโทรมริมน้ำ เพราะมีพื้นที่ที่ไม่ได้รับการดูแล สร้างทัศนียภาพสวยการสร้างประโยชน์แก่ท้องถิ่น เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และยังส่งผลดีต่อพื้นที่ตาบอด เข้าไม่ถึง
ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยมีความเห็นว่า ไม่อยากให้ทำอะไรเลยในพื้นที่ เพราะปัจจุบันเหมาะสมกับคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตของเขาอยู่แล้ว รวมถึงกังวลเรื่องความปลอดภัย บ้างก็มองว่า วัตถุประสงค์โครงการไม่ชัดเจน รูปแบบการก่อสร้างไม่ชัดเจน ไม่มีการสัญจรอย่างเต็มที่ ไม่มีการเชื่อมโยงถนน รถ เรืออย่างเต็มที่
ผศ.ดร.อันธิกา ยังได้นำบทเรียนที่พบจากโครงการศึกษาสำรวจมาเป็นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐด้วย คือ พบว่า บทบาทของภาคเอกชนมีความแข็งแรงมาก ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับประชาชน ต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานพัฒนา
ผู้แทนจากฝ่ายวิชาการหลายรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการทางเลียบเจ้าพระยา โดย ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการทางเลียบเจ้าพระยา ในปี 2561และเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแผนยุทธศาสตร์น้ำชาติ 20 ปีของรัฐบาลคสช.เกี่ยวข้องกับ 40 หน่วยงาน และในฐานะนักวิชาการเป็นห่วงโครงการฯ ไปสืบค้นข้อมูล และตั้งคำถามว่า โครงการทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ถ้าโครงการนี้ดีจริงทำไมถึงไม่เกิดขึ้น และมาจนถึงรัฐบาลคสช.
ทั้งนี้ผศ.ดร.สิตางศุ์ ชี้ว่า โครงการนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างและไม่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทในโครงการที่ไม่มีความจำเป็นของพื้นที่และกทม.ต้องรับฟังประชาชน ต้องศึกษาว่าประชาชนคิดว่า มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงริมฝั่งเจ้าพระยาอย่างเสมอภาคจริงหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามและไม่เชื่อมั่นในระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาพื้นที่ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(iEE-EIA)เพียง 7 เดือน ที่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการศึกษา ว่ามีความเพียงพอ สมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ อีกทั้งยังมีการศึกษาผลกระทบด้านชลศาสตร์น้อยมาก รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการไหล โดยได้เรียกร้องให้กทม.จัดเวทีสาธารณะอีกครั้งและย้ำให้เชิญผู้ทำการศึกษาทุกศาสตร์มามีส่วนร่วมทุกคน เพื่อตอบคำถามสำหรับทุกข้อสงสัย
ด้าน อ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและประธานสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เช่นกัน โดยชี้ว่า แม่น้ำ คือ ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญเป็นต้นทุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเจ้าพระยา คือ ต้นทุนความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร การหายไปของชุมชนริมน้ำ จะทำให้กรุงเทพฯหมดเสน่ห์
“เป็นห่วงว่า เรากำลังทำลายเสน่ห์ริมน้ำของกทม. ก่อนสร้างโครงการนี้ควรไปดูตัวอย่าง แม่น้ำท่าจีนช่วงผ่านสุพรรณบุรี ที่ถูกสร้างเขื่อนกั้นด้วยเหตุผลเดียวกัน แม่น้ำถูกบีบให้เหลือเพียงครึ่งเดียว เห็นด้วยกับเป้าหมายที่มุ่งให้ทุกคนเข้าถึงริมน้ำ แต่ใครที่อยากเข้าถึงแม่น้ำ และเกรงว่า ทางเลียบจะกลายเป็นเส้นทางของมอเตอร์ไซด์รับจ้างมากกว่า ซึ่งสิทธิของคนริมน้ำจะได้รับการกระทบกระเทือน”
อ. ปริญญา กล่าวย้ำว่า “เราอยู่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 เราควรแก้ปัญหาการบุกรุกด้วยวิธีอื่น ต้องมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญ และรัฐต้องยึดมั่นธรรมาภิบาล ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม โดยหาทางเลือกอื่น วิธีการอื่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมชายฝั่งร่วมกัน ตั้งโจทย์ตั้งเป้าหมายเพื่อบรรลุร่วมกัน ที่จะไม่นำสู่ความขัดแย้งและใช้งบประมาณไม่มาก”