สสว. จับมือ สถาบันอาหาร
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพSME
สสว. จับมือ ร่วมกับสถาบันอาหาร พัฒนาผู้ประกอบการ SME ในเครือข่ายธุรกิจอาหาร เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตามแนวทางการดำเนินงานระดับประเทศสู่สากล (Local to Global) ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานการผลิตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน 250 สถานประกอบการ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 1,250 ราย
นางลักขณา ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ รักษาการแทนผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของประเทศ ได้ตระหนักว่า ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่สำคัญของประเทศไทย จึงได้จัดทำ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ SME ในเครือข่ายธุรกิจอาหารตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้มีความเข็มแข็ง และสามารถยกระดับธุรกิจจากธุรกิจฐานราก ให้สามารถเติบโตเป็นขนาดกลาง
ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ สสว. เผยอีกว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูงสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่ Supply Chain ของโลก การมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาพลักษณ์ของประเทศ
“การดำเนินงานใน ปี 2562 สสว. มุ่งเน้นการสำรวจสภาพการผลิต ณ สถานที่ประกอบการผู้สมัคร เพื่อร่วมวิเคราะห์สภาพปัญหาและวางแผน การพัฒนาระบบ เช่น HACCP, BRC, ISO22000 และอื่นๆ เป็นต้นพร้อมทั้งให้คำปรึกษา การพัฒนาศักยภาพ หลักสูตร การประยุกต์ใช้ระบบมาตรฐานในระดับสากลในอุตสาหกรรมอาหารของไทย และการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ
นอกจากนี้ โครงการนี้เน้นการพัฒนาระบบมาตรฐานตลอด Supply Chain ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ผู้ส่งออกเท่านั้น ที่พัฒนามาตรฐานการผลิต แต่ผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพอาหารปลอดภัย โดยคาดว่าเมื่อได้ร่วมโครงการแล้วผู้ประกอบการจะมีความสามารถในการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไปยังตลาดสากล อันเป็นช่องทางการขยายโอกาสทางการตลาด ส่งผลความมั่นคงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และสามารถอบรมและพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจส่งออกได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 250 สถานประกอบการ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 1,250 ราย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร (สถาบันอาหาร) นายณรงค์ฤทธิ์ นรมั่ง อีเมล narongrit@nfi.or.th เบอร์โทรศัพท์ 02-024228688 ต่อ 2102)
และสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของสสว.ได้ทาง application SME CONNEXT และ www.sme.go.th