อดีตปลัดวท. ย้ำกระทรวง อว.
นำวทน.พัฒนาคนอุตฯอนาคต
อดีตปลัดกระทรวงวิทย์ฯ (วท.) ย้ำกระทรวงใหม่ อว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในอนาคต
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อธิบายถึงความสำคัญของการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า กระทรวงฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาการอุดมศึกษา โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับสังคมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นการทำงานในรูปแบบสหวิทยาการ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น และพัฒนามาตรฐานการศึกษา โดยเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและเหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศหรือการเตรียมความพร้อมประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 ตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ และเกิดสาขาอาชีพใหม่ๆ ที่รองรับกับความต้องการกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต
อดีตปลัด วท. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ว่า เป็นการควบรวมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สป.วท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง สนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในสังกัด สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงสร้างและอัตรากำลังของ สป.อว. จะประกอบด้วยกองงานต่างๆ 10 กอง เช่น กองยุทธศาสตร์และประเมินผล กองพัฒนาและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ กองขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ และ กองพัฒนามาตรฐานเพื่อยกระดับสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น ซึ่งจะนำเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ อว. กำลังจะดำเนินการจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ข้อ คือ ผลงานการออกแบบตราสัญลักษณ์ต้องคงความเป็นไทย มีความทันสมัย สะท้อนภารกิจ มีเอกลักษณ์ เป็นสื่อกลางที่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้เข้าใจและจดจำง่าย ส่วนการเลือกใช้สีให้ใช้โทนสีม่วง สีส้ม หรือสีเหลือง อย่างน้อย 1 สี เป็นสีหลัก ซึ่งทั้ง 3 สี มีความหมายต่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถเลือกใช้โทนสีอื่นประกอบได้ สุดท้ายให้มีตรา “พระวชิระ” ประกอบอยู่ในตราสัญลักษณ์ด้วย โดยสามารถวาดขึ้นมาใหม่แต่ยังคงรูปลักษณ์เดิมไว้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามประกาศเชิญชวนส่งผลงานเข้าประกวดฯ อย่างเป็นทางการต่อไป