มสช.ลงพื้นที่ศรีสะเกษ-สุรินทร์
ติดตามขยายผลวิสาหกิจชุมชน
มสช. ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และจ.สุรินทร์ ติดตามความก้าวหน้างานขยายผลของวิสาหกิจชุมชน พบ“วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์)” ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม น้ำมันรำข้าวอินทรีย์ และแปรรูปเป็นแบบผง ด้านกลุ่ม “ผู้ปลูกไม้ผลอินทรีย์ ต.ภูเงิน” สามารถสร้างแบรนด์ “ดินภูเขาไฟ” ส่งขายต่างประเทศได้ราคาดี เช่นเดียวกับกลุ่ม “ผู้ปลูกมัลเบอร์รี่ อ.ขุนหาญ” รวมตัวแปรรูปสร้างแบรนด์สินค้าตรา “พญากูปรี” ส่งขายห้างดัง แก้ปัญหาราคาตกต่ำ ลดปัญหาคนว่างงาน ขณะที่ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรือนไหม – ใบหม่อน” คิดค้น “ผ้าไหมยีนส์” สำเร็จเป็นเจ้าแรกในเมืองไทย
มูลนิธิสัมมาชีพ นำโดยคุณเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ ได้แก่ คุณพรพิมล โรจนโพธิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายพัฒนาโครงการพิเศษ, คุณชัยอนันต์ คงผึ้ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารสำนักงาน, คุณเกียววะลี มีสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขับเคลื่อนโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง, คุณฉัตร์ชัย นกดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและระดมทุน, คุณชญานิษฐ์ เข็มกลัด เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและระดมทุน และ คุณกมลทิพย์ ศรีอรรคพรหม เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานขยายผลวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษและจ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 27 – 30 เมษายน 2562
โดยที่แรกเดินทางเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เพื่อติดตามความก้าวหน้าหลังจากการได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบสัมมาชีพปี 60 โดยนายบุญมี สุระโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ และคุณขจรรัฐ สุระโคตร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด คอยให้การต้อนรับ พร้อมให้รายละเอียดการดำเนินงาน พบว่าทางกลุ่มมีการเพิ่มพื้นปลูกข้าวอินทรีย์ และพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยมีต้นแบบผลิตภัณฑ์ คือ ผงมันม่วง, น้ำมันรำข้าว และผงแป้งข้าวสเปรย์ดาย
จากนั้นเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับ “คุณศุภลักษณ์ สาลีเกิด” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผล ต.ภูเงิน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ โดยเล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ อาทิ เงาะ มังคุด ทุเรียน ฯลฯ บนพื้นที่การเพาะปลูกที่เรียกว่า “ดินภูเขาไฟ” ซึ่งเป็นดินที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง และได้การรับรองมาตรฐานการจัดการผลผลิต GAP นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มยังมีการเพาะปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์ดินภูเขาไฟ เช่น กระชาย, ตะไคร้, มะกรูด, ขมิ้น เพื่อส่งส่งออกไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ต่อมาเข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ ของกลุ่มหม่อนขวัญภูเขาไฟ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โดยมีคุณกันย์สินี พงษ์สุวรรณ ประธานกลุ่มฯ ให้การต้อนรับพร้อมให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกอยู่ 300 ครัวเรือน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมัลเบอร์รี่ และแยมผลไม้ ตราพญากูปรี เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีการทำการตลาดร่วมกับทางวัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ จนสามารถส่งขายห้างใหญ่ในจังหวัด ขณะเดียวกันยังจ้างงานคนพื้นที่เป็นหลัก เพื่อกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ลดปัญหาการว่างงาน
จากนั้นทางคณะเดินทางไปเยี่ยมชม “ศูนย์การเรียนรู้เรือนไหม – ใบหม่อน” จ.สุรินทร์ เป็นสถานที่สุดท้าย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขยายงานรางวัล SMEs ต้นแบบปี 2560 โดยมี คุณอาทร แสงโสมวงศ์ และคุณทัศนีย์ สุรินทรานนท์ เจ้าของธุรกิจเรือนไหม – ใบหม่อน ให้การต้อนรับ ซึ่งพบว่า มีการนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับการทอผ้าไหม จนได้เป็น “ผ้าไหมยีนส์” เจ้าแรกในเมืองไทย และจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทางกลุ่มฯ ยังคิดทำโครงการ “ธนาคารน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งในหมู่บ้านชนบทอีกด้วย