“วช.” พานักวิจัยไทยคว้ารางวัล
เวทีนานาชาติ เจนีวา-มาเลย์
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ คว้ารางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” และ“The 30th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2019) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดอว.มอบประกาศนียบัตร ประกาศเกียรติคุณและขอบคุณนักวิจัย ในการแถลงข่าว “การนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทยร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ” ณ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ 27 พ.ค.2562 ไทยคว้ากว่า 130 รางวัลจากเจนีวา รวม 13 เหรียญทองและ 3รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดอว.
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากภารกิจของ วช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน และเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตราฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น “ประเทศ 4.0” ที่มีความสามารถทางการแข่งขันได้ต่อไป
ที่ผ่านมา วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 เวที ได้แก่ 1) เวที “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและ นักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดจำนวน 102 ผลงาน จาก 29 หน่วยงาน
ภายในงานมีหน่วยงานจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เซลล์เชื้อเพลิงสังกะสี – อากาศสมรรถนะสูง” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเทพ เขียวหอม และคณะ แห่งคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ผลงานเรื่อง “การเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน – ซิลิกา สำหรับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบราง” ของ นายพิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ แห่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และผลงานเรื่อง “PEA Solar Hero Application” ของ นายต้องพงษ์ ศรีบุญ และคณะแห่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 13 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 36 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 45 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ อีกจำนวน 32 รางวัล
2) เวที“The 30th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจาก MINDS (Malaysian Invention & Design Society) มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 900 ผลงาน จากประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศ โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วม 79 ผลงาน จาก 24 หน่วยงาน และได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 21 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 49 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 9 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ อีกจำนวน 20 รางวัล
นายพิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ แห่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. เจ้าของรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากผลงานเรื่อง “การเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน – ซิลิกา สำหรับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบราง” เปิดเผยว่า ใช้เวลาในการพัฒนาผลงานราว 3 ปี ผลิตสารเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน – ซิลิกาเป็นเจ้าแรกในไทย โดยนำไปใช้กับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบรางเพื่อผลิตความร้อน โดยผลิตไอน้ำ ความร้อนสูงประมาณ 450 องศาเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าต่อ หรือผลิตอาหาร เป็นการพัฒนาระบบร่วมกันกับทางบริษัทและหน่วยงานด้านการศึกษา
“สารเคลือบนี้มีคุณสมบัติดูดซับความร้อนได้ดีและทนทานต่อความยืดหดของท่อเพื่อดูดความร้อน โดยมีศักยภาพแปลงแสงอาทิตย์เป็นความร้อนได้ 30-40% เทียบเคียงกับต่างประเทศ ช่วยทดแทนเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ ซึ่งใช้วัสดุคนละแบบกัน แต่เรามีต้นทุนถูกกว่า 50% ที่ผ่านมาได้นำไปใช้กับโรงงานต้นแบบ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทราแล้วประมาณ 2 ปี และทางบริษัทได้นำไปใช้ต่อที่โรงงานผลิตสุราและโรงงานน้ำผลไม้ด้วย โดยบริษัทได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วผ่านทางสวทช.”
นายพิศิษฐ์ยังเปิดเผยถึงการต่อยอดผลงานในอนาคตว่า จะพัฒนาสารเคลือบที่ไม่ใช่กราฟีน นำไปใช้ที่โรงงานอยุธยา เป็นการนำไปใช้กับโซลาร์ คอนเซนเทรเตอร์แนวราบ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง หรือการนำไปประยุกต์ใช้งานตามครัวเรือน เป็นต้น
ทั้งนี้ภายในงานมีการนำผลงานที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแสดงด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากเหล่านักวิจัย นักประดิษฐ์ที่มีผลงานและสื่อมวลชนที่ไปร่วมงานเป็นอย่างมาก