พณ.ลงใต้กระตุ้นตลาดผ้าไหม
ขยายไลน์เจาะลูกค้าทุกกลุ่ม
กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าล่อง 3 จังหวัดภาคใต้ ชุมพร-สุราษฏร์ธานี-นครศรีธรรมราช ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมใต้สู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นำผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ณ ชุมชนกลุ่มทอผ้า ช่วยปรับโครงสร้างการผลิตขยายประเภทผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายครอบคลุมความต้องการลูกค้าทุกกลุ่ม หวังผ้าไหมใต้ได้รับความสนใจจากตลาดมากขึ้นและพร้อมวางจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในและนอกจังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ให้คึกคัก สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผ้าไหมใต้…ได้สัมผัส…ได้ใช้งาน…แล้วจะรู้ว่าสวยงาม หรูหรา ไม่แพ้ผ้าไหมภาคใดๆ ในประเทศ
นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์) ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 14 – 16 มิถุนายน 2562 นี้ เพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมภาคใต้สู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งภายในและนอกจังหวัด ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยสาระสำคัญ คือ การยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมภาคใต้ของไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจ เชื่อมโยงเครือข่ายและการตลาดขนานไปตามเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งภายในและภายนอกจังหวัด รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ”
“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมฯ ได้นำผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น ดีไซน์เนอร์ นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า/บรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้า ฯลฯ ร่วมให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับโครงสร้างการผลิตขยายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมใต้ให้มีความหลากหลายครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม และเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ถ่ายทอดเทคนิคการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมใต้ให้มีความทันสมัย ร่วมสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้นำผ้าไหมใต้มาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
รวมทั้ง สนับสนุนให้ขยายช่องทางการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยใช้การบอกเล่าเรื่องราว หรือ Story Telling ความพิเศษและความเป็นมาของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสจับต้องสินค้าโดยตรง ฉะนั้น การบรรยายถึงสรรพคุณและคุณสมบัติที่โดดเด่นทำให้ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าของสินค้าชิ้นนั้นได้ไม่ยาก”
รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “การเดินทาง 3 จังหวัดภาคใต้ กรมฯ จะลงพื้นที่จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดแรก เดินทางไป “ชุมชนกลุ่มหม่อนไหมบ้านป่ากล้วย” อำเภอสวี ที่มีผ้าทอลายดอกกาแฟชุมพร ลายนกนางแอ่น ลายลูกกล้วย และลายมัดหมี่บ้านป่ากล้วย ที่โดดเด่นมีชื่อเสียง โดยการทอผ้าไหมของชุมชนฯ ได้รับการรับรองเครื่องหมายมาตรฐานผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทานสีเงินและสีน้ำเงิน”
“หลังจากนั้น เดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านท่ากระจาย” อำเภอท่าชนะ มีผ้าลายดาวล้อมเดือน ลายเครือวัลย์ ลายดอกพิกุล ลายราชวัตร และลายดอกแก้ว ที่มีชื่อเสียง ใช้กรรมวิธีการทอผ้าที่เรียกว่า ทอกี่กระทบ ที่ต้องมีการทออย่างประณีต บรรจง ทำให้ผ้าทอที่ได้มีคุณภาพดีเยี่ยม จนได้รับรางวัลโอทอป 5 ดาว รางวัลดีเด่นประจำภาคใต้ ปี 2545 และ 2546 อีกทั้งยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในของฝากแก่ผู้มาร่วมประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย นอกจากนี้ ยังจะได้เดินทางไป “กลุ่มทอผ้าบ้านพุมเรียง” อำเภอไชยา ซึ่งเป็นกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมที่มีผ้ายกพุมเรียง ผ้าทอยกดอกด้วยไหมและดิ้นที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง เป็นกลุ่มทอผ้าที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ด้วยการทอด้วยกี่กระตุก ซึ่งสามารถทอได้เร็ว ทนทาน เนื้อผ้าสวย ลวดลายที่ออกมามีความโดดเด่นแตกต่างจากผ้าไหมที่อื่นๆ”
“วันสุดท้ายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเดินทางไปที่ “กลุ่มทอผ้าบ้านเนินม่วง” อำเภอชะอวด โดยมีผ้ายกเมืองนคร ลายกระจูด ลายดอกพิกุล เป็นไฮไลท์ของกลุ่ม หลังจากนั้นจะเดินทางต่อไปที่ “กลุ่มผ้ายกบ้านมะม่วงปลายแขน” อำเภอเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มทอผ้ายกนครลายพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงมาก โดยผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่าสวยงามแบบผ้าชั้นดีและเป็นที่ต้องการในหมู่ชนชั้นสูง จนคนทั่วไปกล่าวติดปากว่า ถ้าจะซื้อผ้าดีๆ จะต้องหาซื้อผ้ายกนครที่มีลวดลายดั้งเดิม”
“หลังจากนั้น กรมฯ พร้อมผู้เชี่ยวชาญที่ลงพื้นที่ฯ จะนำได้จุดอ่อน-จุดแข็งที่พบมาทำการวิเคราะห์และประมวลผล รวมทั้ง นำความเห็นของนักการตลาดมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละกลุ่มให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งนี้ มั่นใจว่าโครงการ “ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” นี้ จะสามารถยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของภาคใต้ให้มีความเข้มแข็ง เป็นการสร้างมูลเพิ่มให้แก่สินค้า เป็นโอกาสที่ดีในการก้าวเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นประตูสู่ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจต่อไป และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งของภาคใต้และของประเทศไทยอีกด้วย” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย