หลักสูตร ‘พฤฒปัญญา’ มหิดล
สูตรความสุขของผู้สูงวัย
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุมากว่าทศวรรษแล้ว และคาดประมาณว่าอีก 14 ปีข้างหน้า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ และกลายเป็น Super Aging Society อย่างเต็มรูปแบบ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงนับเป็นประเด็นท้าทายสำหรับทุกสังคม
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งในด้านสุขภาพ การสื่อสาร และศิลปวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน โดยได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าวที่ได้มาจัดเป็นหลักสูตร “พฤฒปัญญา” สูตรความสุขของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นหลักสูตรนำร่องระยะสั้น 1 เดือน
รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันวิจัยภาษาฯ มีนโยบายหลักในการให้บริการวิชาการที่ “เสพได้ง่าย ใช้ได้จริง” โดยตนเองได้รับแรงบันดาลใจในการริเริ่มจัดทำหลักสูตร “พฤฒปัญญา” จากการที่ได้เป็นนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting Researcher) ที่ มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการเปิดสอนถึงระดับปริญญาโท แต่เพื่อค้นหาแนวทางในการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมผู้สูงอายุไทยมากที่สุด
สถาบันวิจัยภาษาฯ จึงได้มีการสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในเมืองและปริมณฑลกว่า 300 คน พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ต้องการเข้าอบรมในหลักสูตรระยะสั้นที่ไม่มีความเคร่งเครียดเกินไป โดยมีความสนใจเรื่อง “สุขภาพ” เป็นอันดับหนึ่ง “ท่องเที่ยว” เป็นอันดับสอง และ “ศิลปวัฒนธรรม” เป็นอันดับสาม
จากผลการสำรวจ สถาบันวิจัยภาษาฯ ได้มีการออกแบบหลักสูตรร่วมกับ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากรายการ “3 หมออารมณ์ดี” และรายการ “อุ่นใจใกล้คุณหมอ” FM 96.5 MHz โดยนำเอาองค์ความรู้จากเครือข่ายวิจัยจาก Center for Southeast Asian Studies มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่อง “พฤฒศึกษา” มาประยุกต์จัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น “พฤฒวิทยา” เปิดเป็นรุ่นแรกในเดือนมิถุนายน 2562 เพื่อสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภาวะพึ่งพิง และเพิ่มเครือข่ายทางสังคม โดยเป็นกิจกรรมบริการวิชาการที่มีคณะทำงานจากบุคลากร สหสาขาของสถาบันฯ นำความเชี่ยวชาญ ความรู้ และความสามารถที่หลายหลายมาร่วมจัดกิจกรรมบริการวิชาการร่วมกัน โดยใช้จุดเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดลในเรื่อง “การดูแลสุขภาพ” มาช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุไทย เสริมด้วยองค์ความรู้ด้าน “ศิลปวัฒนธรรม” ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ
หนึ่งในหัวข้อหลักของการอบรม คือ “สุขภาพดีเริ่มที่ดีเอ็นเอ (DNA)” วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า “DNA เปรียบเสมือนคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยายเราที่คอยควบคุมเซลล์ให้ทำงานเป็นปกติทั้งชีวิต การที่เซลล์ปกติแปลว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ที่เซลล์ผิดปกติไป นั่นหมายความว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเซลล์ทำงานปกติไปเรื่อยๆ เราจะมีสุขภาพดีไปจนถึงแก่เฒ่า และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น DNA เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้คนเรามีสุขภาพดีหรือไม่ดี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องสอน DNA ให้คนที่มีความรู้ในระดับหนึ่งได้เรียนรู้ก่อน โดยใช้การถ่ายทอดด้วยภาษาง่ายๆ ที่ชาวบ้านเข้าใจได้ ไม่ใช้ศัพท์แพทย์เลย”
เมื่อถามถึงแนวคิดในการริเริ่มจัดทำหลักสูตร “หมอปัญญา” อธิบายว่า “พฤฒ” แปลว่า “ผู้สูงวัยที่มีคุณค่า” “ปัญญา” ก็คือ “องค์ความรู้” เพราะฉะนั้นการที่เราจะใส่องค์ความรู้ให้กับผู้สูงวัย เพื่อให้เขามีคุณค่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคำว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่” ที่โบราณเติมว่า “ผู้หลัก” ไปอีกคำหนึ่ง เพราะต้องการให้หมายถึง “ผู้ใหญ่ที่เป็นหลักยึดเกาะของคนรุ่นหลังได้” ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่ที่แค่อายุถึง” ก็เรียกกันว่า “ผู้ใหญ่” แต่จะต้องเป็น “ผู้สูงอายุที่มีคุณค่า” เป็นที่ยึดเกาะของคนรุ่นหลังๆ ได้ โดยเป้าหมายของหลักสูตรพฤฒปัญญา ก็คือ การทำให้เกิด “change agent” หรือองค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ในการอบรมยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ “แก่และแกร่งอย่างผู้สูงอายุญี่ปุ่น” “อยู่กับโรคเรื้อรังอย่างมีความสุข” “ผักอายุวัฒนะ” “ข้อเสื่อมและหกล้ม” “ฟันสำคัญกับวัยสูงอายุอย่างไร” “หลีกให้ไกลกับวัยติดเตียง” และ “ผู้สูงอายุกับการนอน” โดยในแต่ละครั้งมีการแบ่งการอบรมออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการบรรยาย และส่วนที่สองเป็นการทำกิจกรรม โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม ศิลปะ และการสื่อสาร ผ่านการท่องเที่ยว อาหารการกิน และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยมีหัวข้อการจัดกิจกรรม อาทิ การท่องเที่ยววัฒนธรรม วัยเพชรรู้ทันสื่อ เคี้ยวให้มันฟันยังครบ เส้นฝ้ายใจไหม เล่าเรื่องเรา อาหารต้านมะเร็ง โยคะ ไทเก็ก พิลาทิส ฯลฯ
พล.ต.ต.ศรกฤษณ์ แก้วผลึก ตัวแทนผู้เข้าอบรม เล่าว่า ตนเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “หมอปัญญา” และได้ประยุกต์เอาความรู้มาดูแลสุขภาพตัวเอง จากเดิมที่เคยมีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม ปัจจุบันน้ำหนักลดลงมาอยู่ที่ 70 – 80 กิโลกรัม นอกจากนี้ จะได้นำเอาความรู้ที่ได้จากการอบรมไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน อย่างวิธีง่ายๆ เช่น การแกว่งแขน ซึ่งหากเราทำได้อย่างถูกวิธี แค่แกว่งแขนอยู่กับบ้านประมาณ 40 – 45 ครั้ง ต่อ 1 นาที ก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับร่างกายได้จริง
โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการอบรมท่านอื่นยังให้ความเห็นเสริมว่า เป็นหลักสูตรที่ผสมสานงานศิลปะและวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว เช่น การใช้อังกะลุงกับเรื่องสุขภาพ เพื่อฝึกการทำงานของสมองร่วมกับการทำอาหารไทยเมนูอาหารต้านมะเร็ง เป็นต้น
หลักสูตรพฤฒปัญญา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย จะจัดอบรมครั้งต่อไปเป็นรุ่นที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2562 จัดอบรมทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี รวม 8 ครั้ง (รับจำนวนจำกัด) ผู้สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ งานบริการวิชาการ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2800-2309-14 ต่อ 3121 www.lc.mahidol.ac.th
ขอบคุณภาพจาก-เฟซบุ๊คพฤฒปัญญา:สูตรความสุขผู้สูงวัย