เทศกาลวันนักวิทย์น้อยปี 9
เปิดพื้นที่เด็กเรียนรู้วิทย์4ภาค
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บี.กริม, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงาน “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง” เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง และเปิดโลกกว้างไปสู่การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ โดยการฝึกการเป็นนักสังเกตสิ่งรอบตัว วิเคราะห์ ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง พร้อมจัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2562
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้แทนกรรมการ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย มีต้นแบบมาจากมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี มีเป้าหมายสำคัญ คือ ปลูกฝังความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่ปฐมวัยอายุระหว่าง 3 – 6 ขวบ ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งได้ขยายผลกว่า 22,245 โรงเรียนทั่วประเทศ ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 235 แห่ง
โดยมีกิจกรรมอบรมครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอน และทำกิจกรรมสู่กลุ่มครอบครัว ซึ่งในปีการศึกษา 2560 มีโรงเรียนผ่านการประเมินเพื่อเข้ารับตราพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจำนวน 3,967 โรงเรียน และในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาคาดว่าจะมีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินถึง 6,000 โรงเรียน
กิจกรรม “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย” จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างสีสันและความตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ โดยจะเปลี่ยนหัวข้อทุกปี ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง” ซึ่งคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคุณครูที่จะชวนเด็ก ๆ ให้ได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘การเคลื่อนไหว’ ของร่างกายตนเองและค่อย ๆ เปิดโลกกว้างไปสู่การเคลื่อนไหวและการเคลื่อนที่ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ยานพาหนะ จนไปถึงการเคลื่อนที่ของข้อมูลดิจิทัลหรือการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ ซึ่งการทำกิจกรรมที่เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวเด็กอย่างนี้เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ปฐมวัย
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพการจัดงานในส่วนของภาคกลางว่า อพวช. มีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ดังนั้น การวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์จึงมีความสำคัญยิ่งในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย จึงถือว่าเป็นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก รู้จัก เข้าใจ และสามารถนำประโยชน์จากการเรียนรู้นี้ไปดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้
สำหรับ “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562” ภายใต้หัวข้อ “เพราะทุกสิ่งไม่หยุดนิ่ง” ในส่วนของภาคกลางจัดขึ้นที่ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ โดยแบ่งฐานกิจกรรมออกเป็น 4 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1. ลูกเต๋าชี้ชะตา : กิจกรรมนี้เด็ก ๆ จะต้องทอยลูกเต๋า แล้วนำจำนวนที่ได้มากำหนดอวัยวะในร่างกายตนเองที่จะต้องสัมผัสพื้น โดยต้องทรงตัวในท่านั้น และสังเกตถึงปัจจัยที่มีผลต่อการโอนเอน
ฐานที่ 2.ความรู้สึกยามเท้าเปลือย : กิจกรรมการสำรวจพื้นผิวที่แตกต่างกัน โดยเด็ก ๆ จะได้เดินสำรวจเส้นทางด้วยเท้าเปล่า เด็กๆ ชอบพื้นผิวแบบใดมากกว่ากัน หรือพื้นผิวแบบใดที่ให้ความรู้สึกเย็นกว่า แข็งกว่า ขรุขระกว่า หรือเรียบกว่ากัน เพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกซึ่งแผ่ขึ้นมาผ่านฝ่าเท้า ฐานที่ 3.ใช้ชีวิตอย่างมีขีดจำกัด : โดยใช้แกนกระดาษใส่ไว้ตรงบริเวณข้อแขนและข้อขา จากนั้นให้เด็กๆ ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินตามเส้นทางที่กำหนด แล้วสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นถ้าเราต้องเคลื่อนไหวแบบจำกัด ฐานที่ 4.รูปภาพที่เคลื่อนไหว : คุณครูจะเตรียมรูปภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวหลายแบบ และชวนเด็กๆ จินตนาการถึงการเคลื่อนไหวในแบบต่าง ๆ แล้วทดลองโดยนำภาพมาเรียงต่อกัน เป็นภาพยนตร์มือถือ
นางสาว คลาวเดีย เอบาค (Ms.Claudia Ebach) ที่ปรึกษาฑูตฝ่ายอาหารและการเกษตรเอกอัครราชฑูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทุกชั่วโมง การสร้างเด็กให้สามารถคิดเป็นแก้ไขปัญหาได้เท่าทันต่อสิ่งรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทรงพลังในการสร้างทักษะเหล่านี้ การที่โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยได้นำแนวคิดจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างคนทั้งการสร้างครูและสร้างเยาวชนให้รู้จักการเรียนรู้”
“เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประจำปี 2562” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2562 โดยจัดให้มีพิธีเปิดเทศกาลฯ ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง จัดโดย อพวช.ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน กรุงเทพฯ
ภาคเหนือ จัดโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) น่าน เขต 2 อำเภอปัว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดร เขต 1 และภาคใต้ จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ขอเชิญชวนโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวฯ
สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และดาวน์โหลดเนื้อหา คู่มือการจัดกิจกรรมได้ในเว็บไซต์ www.littlescientistshouse.com ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562