ไทยประกันชีวิตร่วมไทยพัฒน์
ยกระดับสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ไทยประกันชีวิตยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคม สู่การสร้างคุณค่าร่วมระหว่างสังคมและบริษัทฯ จับมือไทยพัฒน์กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ครอบคลุมทั้ง CSR ในกระบวนการและหลังกระบวนการทำธุรกิจ พร้อมขยับการลงทุนสู่ ESG Investing บริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นายไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของบริษัทฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงยกระดับการดำเนินงานด้าน CSR สู่การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) โดยการพัฒนา Business Model ให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสังคมและบริษัทฯ สามารถเติมเต็มความต้องการของ Stakeholder ในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และสังคม
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์จัดทำ Road Map เป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs เพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานที่มีผลต่อสังคมของบริษัทฯ มีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงเกิดการสร้าง Share Value ระหว่างบริษัทฯ และคนในสังคม โดยพิจารณาจากมาตรฐานความยั่งยืนของธุรกิจประกันภัยในระดับสากล ซึ่งสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์การยึดมั่นคำสัญญา (Promise) มุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในระดับสากล ที่เป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต และสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ทุกชีวิต รวมถึงมุ่งสร้างบุคลากรให้เป็นคนเก่งและคนดี พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อเป็นคู่คิดที่อยู่เคียงข้างลูกค้าและสังคม ด้วยการบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพ บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ซึ่งตอบเป้าหมาย SDGs ในด้านความยากจน ผ่านการมอบผลตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นธรรมแก่บุคลากร ด้านสุขภาวะ จัดให้มีอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ด้านความเท่าเทียมทางเพศ ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน
ยุทธศาสตร์การคุ้มครองป้องกัน (Protect) ภายใต้แนวคิดเชื่อมั่นต่อการมีส่วนร่วม และมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจ และเพิ่มคุณค่าให้กับทุกช่วงเวลาของชีวิต พร้อมตอบสนองและเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มุ่งสร้างสรรค์พัฒนาระบบและกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก้าวข้ามทุกข้อจำกัดและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์นี้ตอบเป้าหมาย SDGs ด้านขจัดความยากจน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ด้านสุขภาวะ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ ด้านความเท่าเทียมทางเพศ
ยุทธศาสตร์การสร้างความรุ่งเรือง (Prosper) มุ่งมั่นเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีจิตอาสา ด้วยการริเริ่ม สนับสนุนบุคลากรให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อน SDGs โดยตอบเป้าหมายด้านขจัดความยากจน ด้านขจัดความหิวโหย ด้านสุขภาวะ ด้านความเท่าเทียมทางเพศ ด้านเศรษฐกิจและการจ้างงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
การดำเนินงานทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ ไทยประกันชีวิตมุ่งยกระดับการดำเนินงานสู่ความเป็นเลิศด้านความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในองค์กร ตลอดจนบริหารจัดการชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจประกันภัย
โดยสามารถจำแนกการดำเนินงานเพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนออกเป็น 8 แผนงาน รวม 40 ประเด็น ซึ่งอยู่ทั้งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ (In Process) และภายหลังกระบวนการดำเนินธุรกิจ (After Process) อาทิ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคม แผนส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสุขภาพ แผนเผยแพร่ความรู้ด้านสาธารณาสุขมูลฐาน แผนสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยพิบัติและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินงาน CRS after Process ยังตอบเป้าหมาย SDGs ด้านขจัดความยากจน ด้านสุขภาวะ และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
นอกจากนี้ ไทยประกันชีวิตยังดำเนินนโยบายการลงทุน ในลักษณะ ESG Investing : Environment, Social and Corporate Governance ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารทุนที่พิจารณาจากปัจจัย 3R ของบริษัท ได้แก่ ความเสี่ยง (Risk) ผลตอบแทน (Return) และผลกระทบที่บริษัทนั้นๆ มีต่อการพัฒนาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม (Real Impact) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงทุนในลักษณะนี้จะได้ผลตอบแทนค่อนข้างดีและมีความยั่งยืน เนื่องจากเป็นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนหรือองค์กรที่ได้ผ่านการคัดสรรแล้วว่าดำเนินธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล
“ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรก ที่จัดทำแผนแม่บทความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์ โดยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 3 ด้าน คือ การให้ การดูแล และการเติมเต็มคุณค่า และยกระดับสู่การสร้างคุณค่าร่วม เพื่อแก้ไขและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ควบคู่กับการก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันในธุรกิจ ขณะเดียวกันยังต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งกับสังคมและบริษัทฯ” นายไชยกล่าว