กรมควบคุมโรคชี้ “วัณโรค”
รู้เร็ว รักษาหาย กินยา6เดือน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยวัณโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำแก้วเดียวกัน หากรู้เร็ว รักษาหายขาดได้ โดยกินยาให้ครบต่อเนื่อง 6 เดือน แนะสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว ถ้าไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์หรือไอมีเลือดปน ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือเหงื่อออกมากตอนกลางคืน ขอให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ สามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ที่เหลือเป็นวัณโรคนอกปอด เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มปอด กระดูกและข้อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น
วัณโรค ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ (ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำแก้วเดียวกันแต่อย่างใด) โดยเมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง ไอ จาม พูดดังๆ ตะโกน หรือหัวเราะ ทำให้เกิดละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ ผู้อื่นรับเชื้อจากการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอด โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อวัณโรคเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค ผู้ป่วยวัณโรคอาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ อาการสำคัญที่ควรสงสัยว่าอาจเป็นวัณโรคปอดคือไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์หรือไอมีเลือดปน อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น มีไข้ (มักเป็นตอนบ่าย เย็น หรือกลางคืน) อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ในการวินิจฉัยวัณโรค ถ้าเป็นที่ปอดโดยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อ ส่วนวัณโรคนอกปอดโดยการตรวจชิ้นเนื้อหรือสารคัดหลั่ง สำหรับการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอด ใช้เวลาการรักษา 6 เดือน แต่ถ้าเป็นวัณโรคนอกปอด ใช้เวลารักษา 6-12 เดือน ขึ้นกับอวัยวะที่เป็นและความรุนแรงของโรค แต่ต้องกินยาให้ครบตามที่กำหนด และควรมีพี่เลี้ยงกำกับการกินยา เพื่อให้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
รวมถึงบุคคลที่อยู่หรือทำงานในสถานที่ที่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นจำนวนมากๆ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีด้วยการเอกซเรย์ปอดโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ผู้ที่ยังไม่ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพทั้งกายใจให้ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด สถานที่แออัดหรือสถานที่ปิดอับอากาศไม่ถ่ายเท ควรสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจใส่หน้ากากอนามัยหรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก ขณะไอ จาม
ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2211-2138 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวปิดท้าย