มุมเกษตร..วช.หนุนเกษตร4.0
มอบเครื่องอบ-แช่ข้าว5รูพะเยา
ในปัจจุบันประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพกันเพิ่มขึ้น จึงนิยมบริโภค “พืชงอก” อาทิ ข้าวกล้องงอก ถั่วงอก เมล็ดทานตะวันงอกและอื่นๆ เนื่องจากมีสารสำคัญที่ดีต่อสุขภาพเป็นปริมาณมากกว่าเมล็ดพืชปกติ อีกทั้งยังปลอดสารพิษ สำหรับทางภาคอิสานมีการเพาะเมล็ดข้าวงอกเช่นกัน ที่เรียกว่า “ข้าวฮาง” มีความแตกต่างจากข้าวกล้องงอกตรงที่ ใช้ข้าวเปลือกมาผ่านกระบวนการเพาะให้งอก ก่อนนำไปนึ่งและสีเปลือกออก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสานมานานนับร้อยปี เพื่อส่งเสริมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ได้สนับสนุนการนำองค์ความรู้ การวิจัยมาใช้ประโยชน์ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน โดยล่าสุดได้ส่งมอบ “เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้” และ “เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับการผลิตข้าวฮางงอก” แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิป่าต้นน้ำห้วยร่องสัก ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา
วช.หนุนขยายผลเทคโนฯเครื่องอบแห้ง
ทั้งนี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ไทย ประจำปี 2561 ภายใต้เรื่อง “การจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้ ระยะที่ 2” ให้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช เป็นหัวหน้าโครงการ มีพื้นที่เป้าหมายการใช้เทคโนโลยี 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ สงขลา นครสวรรค์ และจังหวัดพะเยา เพื่อช่วยยกระดับการผลิตและมูลค่าสินค้าทางการเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่ง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการวช.ได้ส่งมอบเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยนายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเป็นผู้รับมอบ
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช.ได้รับการร้องขอให้สนับสนุนนวัตกรรมเครื่องอบแห้งฯ จากนายเหล็ก หอมสมบัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิป่าต้นน้ำห้วยร่องสัก ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ว่าทางกลุ่มฯ ประสบปัญหาการจัดการผลผลิต หลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชหลักที่สำคัญคือ ข้าว ปัจจุบันได้มีการใช้รถเกี่ยวนวดข้าวมาใช้ในพื้นที่เกือบทั้งหมดเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ซึ่งข้าวที่เก็บเกี่ยวจากรถเกี่ยวนวดจะมีความชื้นสูงทำให้เกษตรกรต้องทำการตากแห้งลดความชื้น แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นสภาพเป็นภูเขา พื้นที่ลานตากไม่เพียงพอ ประกอบกับสภาวะฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวนสูง ทำให้การจัดการด้านความชื้นเป็นไปได้ยาก ผลกระทบทำให้ผลิตผลิตข้าวมีคุณภาพต่ำ (ข้าวมีสีเหลืองขุ่น แตกหักสูง เป็นต้น) จึงจำหน่ายไม่ได้ราคาที่ควรจะเป็น ผลทางด้านสังคมระดับคุณภาพชีวิตในชุมชุมถือว่าค่อนข้างต่ำ รายได้น้อยมีภาวะหนี้สิน และทราบว่ามีนวัตกรรม “เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้” ซึ่งสามารถลดความชื้นของข้าวได้
ต่อมานักวิจัยได้นำเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งฯ ติดตั้งและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ในวันที่ 25 มกราคม 2562 เป็นต้น พบว่า การอบแห้งข้าวเปลือกด้วยเครื่องอบแห้งนี้ทำให้ลดเวลาในการตากแดดแบบเดิมจาก 3 วัน เหลือ 1 วัน ช่วยลดแรงงานในการอบแห้งฯ ช่วยเพิ่มคุณภาพข้าว โดยมีการแตกหักของข้าวลดลง ข้าวใสมันวาวขึ้น มีเนื้อสัมผัสดี มีกลิ่นหอม สามารถลดจำนวนมอดข้าวได้อย่างเห็นได้ชัด
ถ่ายทอด-มอบนวัตกรรมเครื่องเร่งผลิตข้าวฮางงอก
ด้านผศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นอกจากเครื่องอบแห้งฯแล้ว นายเหล็ก ยังได้ขอความอนุเคราะห์ให้ทางทีมวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตข้าวฮางงอก ให้แก่ชุมชุมด้วย เนื่องจากเห็นว่าเกษตรกรในพื้นที่มีความยากจน มีรายได้เฉพาะจากการปลูกข้าว และข้าวโพด เท่านั้น ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผลผลิตในชุมชน ในวันที่ 26 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน หัวหน้าโครงการการแปรรูปข้าวฮางอินทรีย์คุณภาพสูง “ข้าวสปา” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา จึงได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวฮางงอกแก่เกษตรกรด้วย
รวมถึงร่วมหารือถึงอัตลักษณ์ จุดเด่น จุดขาย ข้าวฮางงอกที่จะผลิตจาก ต.หนองหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา จนพบว่า ในพื้นที่มีตาน้ำธรรมชาติ จำนวน 5 ตา แต่ละตาน้ำนั้นมีตำนานเล่าขาน มีความเชื่อและศรัทธาของคนในชุม ซึ่งหากนำน้ำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวฮางงอกแล้ว จะทำให้ผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีที่เดียวในประเทศ ที่ข้าวฮางงอกใช้น้ำธรรมชาติจากตาน้ำ 5 รู นำมาแช่และเพาะข้าวเปลือกด้วยนวัตกรรมเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกให้งอกได้ภายใน 24 ชั่วโมง และนำข้าวเปลือกนึ่งสุกแล้วอบแห้งด้วยเครื่องอบแห้งที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งทำให้กลุ่มฯ สามารถแปรรูปข้าวฮางงอก และออกจำหน่ายได้ในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ทั้งนี้รองผู้อำนวยการวช. ได้มอบนวัตกรรมภายใต้ โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2562 เรื่อง “โครงการการจัดการความรู้และขยายผลเทคโนโลยีเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับการผลิตข้าวฮางงอก” เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรไว้ใช้ร่วมกันในคราวเดียวกัน
ดร.วิภารัตน์ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่วช.สนับสนุนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามแผนงาน การขับเคลื่อนชุมชนอยู่ดีมีสุขเพื่อไทยนิยม ยั่งยืน ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายของ ฯพณฯ ท่าน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่ง โดยปัจจุบันได้มีการขยายผลเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งและส่งมอบเครื่องฯ ไปแล้ว 9 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในโครงการระยะที่ 1 จังหวัดละ 1 เครื่อง และพะเยาเป็นจังหวัดที่ 12
สำหรับโครงการขยายผลเทคโนโลยี “เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกฯ” มีเป้าหมาย 4 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม และจังหวัดพะเยา เพิ่งส่งมอบแก่จังหวัดพะเยาเป็นที่แรก ทั้ง 2 อย่างสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างลงตัว
ในอนาคตคาดว่าจะสามารถผลิตส่งมอบเกษตรกรแต่ละจังหวัดได้เร็วขึ้น เพราะได้โรงงานที่มีความพร้อมอย่างบริษัทอาทิตย์ จักรกล จำกัดมาช่วยผลิต ซึ่งดร.ระพี บุญบุตร เจ้าของบริษัท (ที่3จากซ้าย)ผู้ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีเปิดเผยว่า บริษัทมีกำลังการผลิตเครื่องอบแห้งฯประมาณ 10 เครื่องต่อเดือนและทำให้เครื่องจักรการเกษตรนี้มีราคาถูกลงได้ จากราคาเครื่องอบฯรุ่นที่ส่งมอบนี้วช.สนับสนุนทุนที่ 500,000 บาท ส่วนเครื่องเร่งกระบวนการแช่ฯวช.สนับสนุนอยู่ที่ 285,000 บาท
ชี้เกษตรกรได้ประโยชน์ทั้งปี อบ-เพาะข้าว-เมล็ดพืชทั่วไป
ผศ.ดร.จักรมาสเปิดเผยว่า การขยายผลเทคโนโลยีทั้ง 2 โครงการจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่เกษตรกร 1) การอบแห้ง ลดความชื้นของผลผลิตข้าวได้อย่างรวดเร็วส่งผลดีในแง่ของการเก็บรักษา ทำให้เก็บไว้ได้นาน ช่วยยืดเวลาขาย 2) ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต กรณีเป็นข้าวเปลือกเมื่ออบแห้งดีจะทำให้ขายได้ราคาดีขึ้นเพราะค่าความชื้นที่ต่ำ ส่วนกรณีทำข้าวฮางทำให้สามารถขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 80-90 บาทสำหรับราคาส่ง ราคาขายปลีก 120 บาท แต่เมื่อขึ้นห้างจะมีราคาสูงถึง 200 บาท จากต้นทุนในการผลิตราว 35 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้เพียง 1,000-2,000 บาทต่อไร่
3) สามารถใช้งานอบหรือเมล็ดพืชอื่น ๆ ได้ ช่วยให้มีรายได้ตลอดทั้งปี เช่น เพาะถั่ว ถั่วเขียว ข้าวโพด และอบปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด 4) ทั้ง 2 เทคโนโลยีช่วยให้ได้ผลผลิตข้าวฮางงอกทำได้เร็วขึ้น ได้ข้าวที่สมบูรณ์เพิ่ม ลดการแตกหักและลดกลิ่นหืนให้หายหมดจากกระบวนการผลิตเดิม ที่เริ่มจากนำข้าวแช่น้ำ รองอก นึ่ง ตาก และสี ใช้เวลารวม 7 วันเหลือ 2-3 วัน กลายเป็นเร่งให้ข้าวเปลือกงอกได้ในเวลาเพียง 1 วัน เครื่องยังอบแห้งได้เร็วและทำได้ในปริมาณมาก อัตราลำเลียง 200-300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
5)ช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำ ประหยัดแรงงาน เพราะเครื่องเร่งกระบวนการแช่ฯที่ปล่อยให้น้ำผ่านเมล็ดข้าว สามารถนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก และประหยัดไฟฟ้า ใช้ไฟ
เหนือสิ่งอื่นใด ช่วยให้ประชาชนบริโภคข้าวมีคุณค่าสูง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ เปิดเผยว่า ข้าวฮางงอกแตกต่างจากข้าวกล้องงอก โดยข้าวกล้องงอกเป็นการเอาข้าวมีชีวิตหรือข้าวกล้องมาทำให้งอก แต่ข้าวฮางงอก เป็นการเอาข้าวเปลือกมาทำให้งอก ข้าวฮางงอกมีสารอาหารสูงกว่าข้าวกล้องงอก 2เท่า ส่วนข้าวกล้องงอก มีสารอาหารสูงกว่าข้าวขาว 15 เท่า เหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี โดยก่อนนำมาทำข้าวฮางงอกต้องพักราว 2 เดือนหลังเก็บเกี่ยวและงอกได้ดีในเวลาไม่เกิน 2 ปี
สำหรับสารสำคัญในข้าวฮางงอกได้แก่ สารกาบา(Gaba)สูง มีประโยชน์ช่วยรักษาระบบประสาทส่วนกลาง รักษาสมดุลในสมอง ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ช่วยให้หลับสบาย คลายกล้ามเนื้อ ป้องกันความจำเสื่อม กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโต ชะลอความชรา ช่วยขับเอนไซม์ขจัดสารพิษ ควบคุมระดับน้ำตาล ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ป้องกันมะเร็งลำไส้และขับสารสุข
ข้าวฮางงอกที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคอยู่ที่รากยาว 1 มม.จะมีสารลูทีนสูง ซึ่ง ลูทีน (Lutein) เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านสุขภาพ เช่น ช่วยบำรุงสุขภาพดวงตาและป้องกันโรคตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก ช่วยเรื่องความจำ บำรุงสมองและเสริมสร้างความจำ เสริมสร้างสุขภาพหัวใจและบำรุงผิวพรรณ
ขณะเดียวกันยังมีไฟเบอร์ชั้นดีสูง หรือสูงกว่าข้าวขาว 15-20 เท่า มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งช่วยขจัดอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ดี มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญสูงและครบทุกตัว ช่วยให้อวัยวะในร่างกายทำงานได้ดี ทำให้สุขภาพแข็งแรง เช่น วิตามิน B1 B2 B3 B6 และE อีกทั้งมีธาตุเหล็กสูง กว่าข้าวขาว 2 เท่า ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า โครงการขยายผลนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปให้ประชาชนใช้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อเกษตรกร กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชนและประชาชนทั่วไป มอบโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสสร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการผลิตข้าวฮางงอกเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะทำมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นำพาประเทศพัฒนาสู่ความก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนต่อไป…