กรมควบคุมโรครุกพัฒนามาตรฐาน
ด่านคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดสัมมนาวิชาการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เดินหน้าพัฒนาสู่มาตรฐาน IHR–JEE (2018) เพื่อก้าวสู่ยุค 4.0 โดยเน้นพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคัดกรอง ตรวจจับและควบคุมโรคที่ทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมเข้ามาใช้พัฒนาระบบ ทำให้ผู้เดินทางระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ประจำปี 2562 “ด่านควบคุมโรคฯพัฒนาสู่มาตรฐาน IHR–JEE (2018) เพื่อก้าวสู่ยุค 4.0” หรือ “Quarantine Development to comply with IHR-JEE (2018) for Thailand 4.0” วันวานนี้ (1 ส.ค.) ณ โรงแรมริชมอนด์ฯ จังหวัดนนทบุรี
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการประกาศใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005) ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประสานหลักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนางานด้านกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยดำเนินงานพัฒนาสมรรถนะหลักของช่องทางเข้าออกประเทศและด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ให้ได้ตามมาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 และตามแนวทางการประเมินผลการดำเนินงานตาม IHR 2005 (International Health Regulations (2005) Joint External Evaluation Tool ; IHR-JEE) ขององค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ ตามที่ประเทศไทยได้ขอรับการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินจากภายนอก ขององค์การอนามัยโลก (Joint external evaluation: JEE) เมื่อวันที่ 26–30 มิถุนายน 2560 ช่องทางฯ ดำเนินการได้ถึงระดับคะแนน (จากคะแนนเต็ม 5) ดังนี้ 1.ในภาวะปกติ ได้ระดับคะแนน 4 คือ มีช่องทางเข้าออกประเทศโปรแกรมการตรวจตรา เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีโปรแกรมดำเนินงานควบคุมพาหะนำโรคและแหล่งรังโรค ในช่องทางฯ และบริเวณใกล้เคียงช่องทางฯ และ 2.ในภาวะฉุกเฉิน ได้ระดับคะแนน 3 คือ ช่องทางเข้าออกประเทศมีความพร้อมในการประเมินผู้เดินทางและสัตว์ที่ถูกปนเปื้อน ติดเชื้อโดยดำเนินการ ณ ช่องทางเข้าออกฯ หรือประสานงานขอความช่วยเหลือจากสถานบริการในพื้นที่ ตลอดจนมีความพร้อมสำหรับการประเมินและกักกันผู้เดินทางที่สงสัยป่วย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ผลการประเมินช่องทางฯ ดังกล่าว มีข้อแนะนำคือ ให้ช่องทางฯ จัดทำข้อตกลงความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงาน (Mutual Aid Agreement) สำหรับให้บริการดูแลรักษาและวินิจฉัยผู้เดินทางที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วย รวมทั้งให้รับผู้เดินทางที่ได้รับผลกระทบจากช่องทางเข้าออกประเทศเพื่อการแยกกัก รักษา และช่วยเหลืออื่นๆ โดยร่วมปรึกษาหารือกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่และ/หรือที่อยู่ใกล้ๆ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น กรมควบคุมโรค โดยกองโรคติดต่อทั่วไป จึงพัฒนางานด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคัดกรอง ตรวจจับและควบคุมโรคที่ทันสมัย โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้พัฒนาระบบ ทำให้ผู้เดินทางระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการทำระบบ Cross Border Disease Control (CBDC) เพื่อประสิทธิผลของระบบควบคุมโรคข้ามพรมแดน ต่อไป
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะอนุกรรมการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ ประธานคณะทำงานพัฒนาช่องทางฯ และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 150 คน ประชุมระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคฯ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านการทำข้อตกลงความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงาน (Mutual Aid Agreement) ด้านการส่งต่อผู้เดินทางระหว่างประเทศที่สงสัยว่าป่วย ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422